รู้จักกับการทำกายภาพบำบัดด้วย shockwave ช็อคเวฟ คืออะไร? ช่วยอะไรบ้าง?
ในปัจจุบันการทำกายภาพบำบัดได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งการรักษาที่ได้รับความนิยมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วยรักษาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีในร่างกายลงได้อีกด้วย อย่างเช่นการใช้คลื่นช็อคเวฟ (Shock Wave) หรือการรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock Wave Therapy) ในการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมและอาการปวดเรื้อรัง ใครที่ยังไม่รู้จัก shock wave ว่าช็อคเวฟ คืออะไร? ช็อคเวฟ กายภาพโรคอะไร? มีกี่ประเภท? ช่วยเรื่องอะไร? สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความนี้
เลือกอ่านหัวข้อเกี่ยวกับ shockwave ช็อคเวฟ ที่สนใจ
Add a header to begin generating the table of contents
ช็อคเวฟ คืออะไร?
ช็อคเวฟ คือ เครื่องมือในการรักษาและกายภาพบำบัดอย่างหนึ่งด้วยการใช้คลื่นกระแทก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ช็อคเวฟ” ที่มีแรงกระแทกน้อยแต่เข้าถึงโครงสร้างของร่างกายในชั้นลึก เพื่อการรักษาภาวะปวดแบบเรื้อรัง ด้วยวิธีการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการบาดเจ็บแล้วร่างกายจะทำการรักษา หรือซ่อมแซมเนื้อเยื่อเองตามกระบวนการธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการลดปริมาณสารสื่อประสาทที่ส่งสัญญาณปวดและกระตุ้นการหลั่งสารลดปวดได้ด้วย ดังนั้นผู้ที่เข้ารับการรักษาจึงรู้สึกว่าการรักษาประเภทนี้สามารถบรรเทาปวดได้อย่างทันที
ช้อคเวฟ มีกี่ประเภท? แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร?
ช็อคเวฟ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- เรเดียลช็อคเวฟ (Radial shock wave) เป็นเครื่องมือที่ใช้แรงอัดอากาศในปริมาณสูง เพื่อให้เกิดพลังกดที่มีลักษณะเฉพาะส่งผ่านชั้นผิวหนังไปยังบริเวณเอ็นและกล้ามเนื้อ
- โฟกัสช็อคเวฟ (Focus shock wave) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เพราะไม่กระจายคลื่นออกเป็นวงกว้างและสามารถส่งผ่านไปยังโครงสร้างของร่างกายได้ลึกและแม่นยำกว่า นิยมใช้ในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลดอาการปวด บวม อักเสบของกล้ามเนื้อได้
ช็อคเวฟทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกันในรูปแบบของคลื่นกระแทก เรเดียลช็อคเวฟจะกระจายคลื่นออกเป็นวงกว้าง ยิ่งยิงพลังงานลงไปลึกเท่าไหร่ ความแรงของพลังงานก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จึงเหมาะสำหรับการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด การสร้างหลอดเลือดใหม่ การสร้างคอลลาเจน การซ่อมแซมเซลล์เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น การสลายหินปูนในเส้นเอ็นและเร่งกระบวนการซ่อมแซมในผู้ที่มีภาวะปวดเรื้อรัง
ส่วนโฟกัสช็อคเวฟจะส่งพลังได้ลึกและตรงจุดกว่า จึงเหมาะสำหรับการรักษาภาวะเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เอ็นข้อศอกอักเสบ เอ็นไหล่ หรือเอ็นเข่าอักเสบ ภาวะปวดเรื้อรังของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า หลังและโรคออฟฟิศซินโดรม
ช็อคเวฟ ช่วยเรื่องอะไรบ้าง? รักษาโรคใดได้บ้าง?
การรักษาด้วยช็อคเวฟ ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเกิดกระบวนการรักษา ซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่เพื่อบรรเทาอาการปวด บวม อักเสบ ไม่ว่าจะเป็นกระดูก เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หรือส่วนต่าง ๆ ในร่างกายให้รู้สึกถึงความผ่อนคลาย หายปวดและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น สามารถรักษาได้หลายโรค เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม โรคเอ็นฝ่าเท้า เอ็นข้อศอก เอ็นไหล่ หรือเอ็นเข่าอักเสบ ภาวะปวดรองช้ำ ปวดส้นเท้า ปวดข้อศอก รวมทั้งโรคไตเสื่อม เป็นต้น
การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยช็อคเวฟ กายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่และหลัง รวมทั้งผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมสามารถทำการรักษาให้หายได้ด้วยช็อคเวฟ หรือการกายภาพบำบัดด้วยคลื่นกระแทก โดยการตรวจประเมินและวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม อาจจะต้องใช้วิธีการรับประทานยาร่วมด้วย (แล้วแต่ระดับความรุนแรง) หากต้องการรักษาด้วยช็อคเวฟ หรือการใช้คลื่นเสียงพลังงานสูงยิงเข้าไปยังเซลล์เนื้อเยื่อที่เกิดความเสียหายและบาดเจ็บ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายทำการซ่อมแซมเองตามธรรมชาติ ช็อคเวฟก็จะมีจุดเด่นด้านความแม่นยำและยิงเป็นจังหวะได้ลึกไปจนถึงโครงสร้างของร่างกายที่เกิดอาการอักเสบ หรือมีอาการปวดแบบเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนเพื่อป้องกันอาการเจ็บปวดได้ในอนาคตอีกด้วย
การทำกายภาพบำบัดด้วยช็อคเวฟ
การทำกายภาพบำบัดด้วย Shockwave กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากช่วยกระตุ้นร่างกายให้เกิดการรักษา ซ่อมแซมบริเวณที่มีอาการปวดได้อย่างทันทีทันใดแล้ว หากเทียบกับการรักษาด้วยเครื่องมือกายภาพบำบัดอื่น ๆ แล้ว การทำกายภาพบำบัดด้วยช็อคเวฟจะถูกแนะนำให้ทำการรักษาน้อยครั้งมากกว่า คือ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ครั้งและต้องเว้นระยะไปสักพักเพื่อให้ร่างกายได้ Re-healing ใหม่ โดยจะทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ
ข้อห้ามและข้อควรระวังในการรักษาด้วยช็อคเวฟ
- ไม่เหมาะสำหรับเด็ก บุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปีและสตรีตั้งครรภ์
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีผิวหนังติดเชื้อ ผิวถลอก แผลเปิด ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื้องอก หรือกำลังรักษาอยู่
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะเลือดแข็งตัวช้า หรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ รวมทั้งผู้ทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือเกล็ดเลือด
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์ ภายใน 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
- หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีเส้นประสาทอักเสบ หลอดเลือดโป่งพอง หรือเส้นเลือดผิดปกติ